x

ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา (ห้องสมุดคณะครุศาสตร์) ตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย เป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้านการศึกษา ซึ่งรวบรวมและคัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศ ที่มีคุณค่าทางด้านการศึกษา ที่เข้าใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว การบริการด้านวิชาการเชิงค้นคว้า จากหนังสือและสื่อ พร้อมทั้งการสืบค้นข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังมีประวัติความเป็นและการพัฒนาต่อไปนี้

พ.ศ. 2499
นับเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของห้องสมุด เมื่อมหาวิทยาลัยอินเดียนนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา และได้พัฒนาห้องสมุดของคณะครุศาสตร์เป็นอย่างมาก ได้จัดส่งหนังสือ วารสาร และอุปกรณ์การศึกษาหลายชนิด อีกทั้งยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านห้องสมุด คือ Miss Margaret Griffin มาจัดระบบงานเทคนิค โดยได้เริ่มใช้ระบบทศนิยมดิวอี้จัดหมวดหมู่หนังสือ และวางรากฐานในการบริการต่าง ๆ ให้เป็นสากล

พ.ศ. 2501-2503
เมื่อการก่อสร้างอาคารพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของคณะครุศาสตร์ได้แล้วเสร็จ ห้องสมุดคณะครุศาสตร์ก็ได้ย้ายที่ทำการจากคณะอักษรศาสตร์มาอยู่ที่อาคารใหม่ ห้องสมุดอยู่ที่ปีกซ้ายของอาคาร เป็นการออกแบบโครงสร้างเป็นห้องสมุดโดยเฉพาะ กล่าวคือ ภายในจะเป็นหลังคาสูงตรงกลางเป็นกระจกให้แสงสว่างส่องเข้ามาได้

พ.ศ. 2503-2532
Miss Margaret Griffin และอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ได้มีการรวบรวมตำราเรียน หลักสูตร และคู่มือครูทุกระดับชั้น และการจัดระบบหนังสือเป็นหมวดหมู่ด้วยระบบทศนิยมดิวอี้ มีบัตรรายการในการช่วยค้น ซึ่งกล่าวได้ว่า ห้องสมุดคณะครุศาสตร์เป็นตัวอย่างการจัดห้องสมุดตามหลักสากลเป็นห้องสมุดแห่งแรกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2533-2535
ห้องสมุดคณะครุศาสตร์เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานบริการ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป CDS/ISIS ซึ่งพัฒนาโดย UNESCO โปรแกรม DBASE 3 PLUS บันทึกข้อมูลวิทยานิพนธ์ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2536 ได้มีโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จากระบบ Stand alone มาเป็นระบบการทำงานแบบเครือข่าย(LAN=Local Area Network)

พ.ศ. 2537
ยกเลิกการใช้โปรแกรม CDS/ISIS เปลี่ยนเป็นโปรแกรม INNOPAC ซึ่งทางสถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแม่ข่าย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติงานบริการ ทางด้านเทคนิคจากห้องสมุดปฏิบัติการด้วยมือเป็นระบบห้องสมุดอัตโนมัติ นับได้ว่า พ.ศ. 2537 นี้เป็นช่วงที่สำคัญของการพัฒนาห้องสมุดคณะครุศาสตร์อย่างยิ่ง และยังได้เปลี่ยนชื่อจากห้องสมุดคณะครุศาสตร์มาเป็นศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ตามคำสั่งคณะครุศาสตร์ ที่ 253/2537 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537

พ.ศ. 2538
ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นข้อมูลของตนเอง โดยได้จัดซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป INFOMA เพื่อเข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ ข่าวการศึกษา วารสารครุศาสตร์โดยเก็บในรูปฉบับเต็ม (Full text)

พ.ศ. 2539
ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ได้พัฒนาไปสู่ห้องสมุดอัตโนมัติ นิสิตและอาจารย์ภายในคณะครุศาสตร์และต่างคณะ ฯ สามารถใช้บัตรใบเดียวยืมหนังสือได้อย่างเต็มรูปแบบ

พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน
ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา ได้รับงบประมาณเงินทุนคณะ ฯ ปรับปรุงพัฒนาระบบจัดเก็บเอกสารและข้อมูลเพื่อให้สามารถบริการฐานข้อมูล วิทยานิพนธ์ข่าวการศึกษา วารสารครุศาสตร์ จุลสาร และอื่น ๆ บน Web

จากประวัติความเป็นมาของศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษาได้มีการปรับปรุง และการพัฒนาดังกล่าวเป็นความพยายามของผู้บริหารระดับสูงของคณะครุศาสตร์ร่วมกับผู้บริหารห้องสมุดดังรายนามดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2497 – 2503  1. Miss Margaret Griffin  ที่ปรึกษา

พ.ศ. 2498 – 2503  2. ศาสตราจารย์ อำไพ สุจริตกุล  ผู้บริหาร

พ.ศ. 2501 - 2531  3. รองศาสตราจารย์ วิบูลเพ็ญ ชัยปราณี  อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์

พ.ศ. 2502 – 2535  4. รองศาสตราจารย์ ทรรศนียา กัลยาณมิตร  อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์

พ.ศ. 2501 – 2525  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุฑารัตน์ แพส   อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์

พ.ศ. 2525 – 2536  6. อาจารย์ ดร. บุญเรือง เนียมหอม  บรรณารักษ์

พ.ศ. 2536 – 2553  7. ดร. สุวิมล ธนะผลเลิศ  บรรณารักษ์

พ.ศ. 2553 – 2554  8. ดร. ปิยะ ศักดิ์เจริญ  บรรณารักษ์

พ.ศ. 2555 – 2557  9. นางสาวศรีไพร โชติจิรวัฒนา  บรรณารักษ์

พ.ศ. 2557  10. อาจารย์ ดร.บุษกร เลิศวีระศิริกุล  อาจารย์ทำหน้าที่บรรณารักษ์

พ.ศ. 2558  11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก  อาจารย์ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ  ร่วมด้วย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ    อาจารย์ ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ    อาจารย์ ดร.ศรเนตร อารีโสภณพิเชฐ   และ อาจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธุ์   อาจารย์ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการ